บัวผุด ถือเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บัวผุดเป็นกาฝากชนิดหนึ่งที่อาศัยน้ำเลี้ยงจากรากของพืชชนิดอื่น จะโผล่เฉพาะดอกซึ่งเป็นดอกเดียวขึ้นจากพื้นดินให้เห็นระหว่างฤดูฝนหรือในระยะที่อากาศและพื้นที่ยังมีความชุ่มชื้นสูง คือ ระหว่างพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับลำต้นของบัวผุดมีลักษณะเช่นไร มีการเกาะหรือเชื่อมติดกับพืชที่มันอาศัยอยู่อย่างไร ลักษณะของดอกบัวผุด เมื่อยังตูมอยู่จะคล้ายกับหม้อหรือกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่มีกลีบหนาจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 70-80 เซนติเมตร ที่โคนของดอกจะมีกลีบนำสีน้ำตาลอมเหลืองเรียงสลับซับซ้อนกันอยู่มาก ภายในดอกจะมีแผ่นแบนคล้ายจาน ด้านบนมีปุ่มคล้ายหนามแหลมจานนี้จะซ้อนเกสรตัวผู้และรังไข่ไว้ด้านล่าง (สาขาวิจัยนิเวศวิทยา, 2533)
ดอกบัวผุดเมื่อยังสดอยู่จะมีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม กลีบดอกมีความหนาตั้งแต่ 0.5-1 เซนติเมตร นับว่าเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ค้นพบในประเทศไทย ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เคยมีรายงานว่า พืชสกุลเดียวกันนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกมากกว่า 100 เซนติเมตร ก็มี
ถึงแม้ว่าดอกบัวผุดจะมีกลิ่นเหม็นมากก็ตาม แต่เป็นพืชสมุนไพรที่หายากมากและมีคุณค่าสูง คือ นอกจากจะนิยมนำมาใช้ปรุงเป็นยาบำรุงสตรีหลังคลอด ให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงมีผิวพรรณเปล่งปลั่งแล้วยังเป็นยาบำรุงสำหรับบุรุษเพศอีกด้วย
ในปัจจุบันดอกบัวผุดนับว่าจะหาดูได้ยากยิ่ง ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ป่าไม้ถูกทำลายลงไปอย่างมากทำให้สภาพนิเวศน์ของป่าเปลี่ยนไปมาก จะพบดอกบัวผุดบ้างเฉพาะตามอุทยาแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเท่านั้น เช่น อุทยานแห่งชาติเขาสกจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระยอง เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น