สัณฑฆาต ๔
เป็นโรคเกี่ยวกับโลหิต ๔ จำพวก
สัณฑฆาตเพื่อโลหิตแห้ง(เอกสัณฑฆาต)
เกิดได้กับบุรุษและสตรี เพราะโลหิตจับเป็นก้อนภายใน
เมื่อกินยาร้อนเข้าโลหิตจึงละลายออกเป็นลิ่ม ออกมาตามช่องทวารหนัก
เรียกว่าอัสนโลหิต,สันนิจโลหิต รักษายากนัก
คือเป็นอสาทิยโรค
กับสตรีเป็นเรื่องโลหิตและระดูแห้งเดินไม่สะดวก
คุมกันเป็นก้อนเท่าฟองไข่ติดกระดูกสันหลังข้างใน มักจะเจ็บหลัง
บิดตัวจะจุกแน่นหน้าอกมาก เมื่อแก่เข้ามักเป็นลมจุกแน่นอก
ถ้าบุรุษมักเกิดด้วยไข้ถึงพิฆาต คือกระทบกระแทก ตกต้นไม้ ถูกทุบถองโบยตีสาหัส
พิการช้ำในอก โลหิตคุมกันเป็นก้อนเป็นดาน ทำให้ร้อน
เสียดแน่นยอกสันหลัง
สัณฑฆาตเกิดเพื่อปัตตะฆาต(โทสัณฑฆาต)
เป็นได้ทั้งบุรุษ-สตรี
เพราะเกิดท้องผูกเป็นพรรดึกและโลหิตแห้ง
แล้ววาโยกล้าพัดโลหิตให้เป็นก้อนเข้าในอุทร จึงเจ็บทั่วสรรพางค์กาย เมื่อยบั้นเอว
มือเท้าตาย ให้ขบขัดเข่าและตะโพกท้องขึ้นและตึงที่ทวารเบา กินอาหารไม่มีรส
ปากเปื่อยเสียงแห้ง เวียนศีรษะ ตามืดน้ำตาไหลหูตึง ร้อนบ้างหนาวบ้าง
อยากเปรี้ยวอยากหวาน เป็นคราว
สัณฑฆาตเกิดเพื่อกาฬ เกิดภายในตับ ปอด หัวใจและดี
ไส้อ่อน,ไส้แก่ (ตรีสัณฑฆาต)
เป็นเม็ดขนาดเม็ดข้าวสารหัก ขึ้นที่ดีให้คลั่งเพ้อ
ขึ้นตับให้ตับหย่อน ตกโลหิตมีอาการดุจปีศาจเข้าสิง ถ้าขึ้นปอดให้กระหายน้ำ
ขึ้นหัวใจให้แน่นิ่งเจรจาไม่ได้ ขึ้นในไส้อ่อนไส้แกให้จุกเสียด
จุกโลหิตท้องขึ้นท้องพองดังมานกระษัย เมื่อเป็นได้ ๗-๘-๙
วันโลหิตจะแตกออกในทวารทั้ง ๙ เรียก”รัตตะปิตตะโรค”รักษาไม่ได้
คือเป็นอติสัยโรค
สัณฑฆาตเกิดเพื่อกล่อนแห้ง
(อาสัณฑฆาต)
เกิดเพื่อสมุฎฐานธาตุและอชิณโรค
คือกินของแสลงโรคแสลงธาตุเช่นของอันมีรสคาวเป็นต้น ทำให้อาเจียนเป็นน้ำลาย
น้ำลายฝาด มีอาการเจ็บกระบอกตา เมื่อยไปทั้งตัว เจ็บที่ขั้วสะดือ ลงไปถึงอัณฑะ
คันองคชาติ องคชาติบวมเจ็บแสบร้อน แตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลซึม
เกิดเป็นเม็ดงอกขึ้นในรูองคชาติขนาดเท่าผลพริกเทศ แก่เข้าดังยอดหูด
ให้ปัสสาวะเป็นสีต่างๆดังทุราวสา ๔ จำพวก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น